สึนามิคนแก่

"ประชากร" หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญอันจะทำให้ต้นข้าว 10 รวง ที่มัดหลวม ๆ รวมกันภายใต้สัญลักษณ์ "อาเซียน" เดินเครื่องเต็มกำลังสู่ประชาคมอาเซียน ในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เจริญเติบโตและแข็งแกร่งเป็นหนึ่งเดียว กัน

ปัจจัยสำคัญ คือการหลั่งไหล ถ่ายเทแรงงานระดับภูมิภาค เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรโลกกำลังวิกฤต เพราะความไม่สมดุลของโครงสร้างประชากรที่มีอัตราการเกิดลดลงอย่างน่าใจหาย

แม้ แต่ในประเทศไทยเอง อีก 10-15 ปีข้างหน้า คือ พ.ศ. 2565-2570 จะประสบกับปัญหานี้ โดยโครงสร้างประชากรจะเป็นลักษณะพีระมิดกลับหัว คือคนสูงวัยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่คนเกิดน้อยลง อันเนื่องมาจากคนในยุคสมัยนี้ไม่นิยมมีบุตร ซึ่งจะส่งผลถึงจำนวนแรงงานในอนาคตด้วย

จากสถิติอัตราการเกิดและ ดัชนีการมีบุตรของหญิงไทยเกือบจะอยู่ในอันดับรั้งท้ายในหมู่สมาชิก เป็นรองเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่ครองความเป็นโสดสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน

เนื่องในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ตรงกับ

"วัน ประชากรโลก" เซ็กชั่นดีไลฟ์ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจจึงได้หยิบยก "วาระประชากรไทย" ขึ้นมาฉายให้เห็นภาพในอนาคตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ยังพอมีทางอุดช่องโหว่ได้อยู่บ้าง ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามขยายวงออกไปอีก

ศาสตราจารย์ ปราโมทย์ ประสาทกุล ปรมาจารย์แห่งสถาบันประชากรและสังคม-ม.มหิดล เริ่มฉายภาพคลื่นคนกลุ่มใหญ่ หรือคนยุค "เบบี้บูมเมอร์" กำลังอพยพย้ายสำมะโนครัวเข้าสังกัด "วัยชรา"

ยุค "เบบี้บูมไทย" สวนทางกับช่วงเบบี้บูมในสหรัฐหรือญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2488-2508 หรือตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ฝั่งไทยช่วงปี 2506-2526 มีเด็กเกิดปีละเกิน 1 ล้านคน จึงนิยามยุคนี้ว่า "คนรุ่นเกิดล้าน" นับอายุคนกลุ่มนี้เริ่มทยอยฉลอง "แซยิด" มีอายุครบ 60 ปี กันในอีก 10 ปีข้างหน้า และจะกลายเป็น "สึนามิคนแก่" ถาโถมซัดเข้าสังคมไทย

"เรา เริ่มเห็นเค้าลางการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนประชากร ตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2546 สัดส่วนของคนชราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งโดยเฉพาะคนมีอายุยืนยาวขึ้น ในอนาคตผู้สูงอายุจะมีก้าวกระโดดจากประมาณ 10% เป็น 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ราว ๆ 10-15 ล้านคน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นเดียวกับประชากรญี่ปุ่นที่มีคนแก่ในอัตรา 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ"

สอดคล้องกับผลวิจัยชี้ "จุดเปลี่ยน" อยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2563-2565 ดัชนีผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี จะมีจำนวนเทียบเท่ากับกลุ่มคนวัยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี แต่หลังจากปีนั้นไปแล้ว ประเทศไทยจะเดินหน้าสู่ "ยุคผู้สูงอายุครองเมือง" อย่างเต็มตัว

ปรากฏการณ์ที่มีผู้สูงอายุมากกว่าเด็กเช่นนี้เป็น เหมือนสายน้ำมิอาจไหลย้อนกลับ ดังเช่นเหตุการณ์ที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายประสบมาก่อนหน้าไทย

ปัจจุบัน อัตราเพิ่มของประชากรไทยชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วไปจนถึงจุด "ติดลบ" แน่นอนว่าจำนวนประชากรไทยใกล้จะถึงจุดคงตัวในระยะเวลาอีกประมาณ 10 ปีเท่านั้น

หนึ่งในเหตุผลหลัก สืบเนื่องจากโครงการวางแผนครอบครัวแห่งชาติ ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เพราะในขณะนั้นอัตราการเกิดของประเทศสูงมาก จนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามไม่ทัน จึงต้องส่งเสริมให้คู่สมรสใช้วิธีคุมกำเนิด เพื่อให้อัตราการเกิดลดต่ำลง

จน ถึงปัจจุบันอัตราการเกิดลดลงเหลือเพียงไม่เกิน 8 แสนคนต่อปี และมีแนวโน้มว่าลดต่ำลงไปอีก เพราะคนหนุ่มสาวนิยมเป็นโสดกันมากขึ้น และผู้ที่แต่งงานแล้วก็มักมีลูกน้อยลง

มีสถิติตัวเลขที่น่าตกใจ จากเมื่อ 50 ปีก่อน ผู้หญิงไทยคนหนึ่งมีลูกเฉลี่ยตลอดวัยเจริญพันธุ์ของตนประมาณ 5-6 คน แต่ทุกวันนี้ผู้หญิงไทยคนหนึ่งมีลูกโดยเฉลี่ยน้อยกว่าเมื่อก่อนถึง 4 เท่าตัว เหลือเพียง 1.5 คนเท่านั้น เกิดเป็น "ภาวะเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับทดแทน" หมายถึงผู้หญิงคนหนึ่งมีลูกเฉลี่ยน้อยกว่า 2 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่พอที่จะทดแทนพ่อและแม่ได้

เมื่อเส้นกราฟคนชราพุ่ง สูงขึ้นสวนทางกับอัตราเกิด ย่อมส่งผลให้โครงสร้างประชากรเสียสมดุล เกิดภาวะชะงักงันของประชากรทดแทนกันจากรุ่นต่อรุ่น การรับช่วงส่งต่อไม้ผลัดในการพัฒนาประเทศอาจต้องสะดุดลง

"ทีดีอา ร์ไอ" เคยออกมาเตือนอุตสาหกรรมให้เตรียมรับมือแรงงานหนุ่มสาวกำลังร่วงโรย ตามสัดส่วนประชาชกรไทยที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ชี้จะกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ขณะที่แรงงานระดับปริญญาที่ออกมาป้อนตลาดกลับไม่มีคุณภาพ ส่งผลให้อุตสาหกรรมไทยจะเกิดปัญหาการว่างงาน และขาดแคลนแรงงานในอนาคต

นอก จากนี้ รัฐยังต้องเตรียมแบกภาระหนักอึ้งของคลื่นคนชราล้นเมือง ทั้งมาตรการสวัสดิการสังคม เบี้ยผู้อายุ โดยเฉพาะปัจจุบันยังเป็นระบบให้เปล่า ไม่ได้หักรายได้เพื่อออมเงินตอนแก่ชราเหมือนต่างประเทศ ถ้ามองอย่างสุดโต่ง รัฐบาลไทยอาจเผชิญสถานการณ์ "ถังแตก" ได้ในอนาคต

ภาครัฐขยับเขยื้อน มอบหมายให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเร่งดำเนินการ และส่งเรื่องต่อให้ทางวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ เร่งหามาตรการกระตุ้นการมีลูกของคนไทย หวังให้คลอดแผนก่อนเดือนกันยายนนี้ เพื่อแก้ปัญหาภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลง

"ผมคิดว่าเด็กเกิดน้อยมีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ ประการแรก คนไทยรุ่นใหม่แต่งงานกันน้อยลง และคนที่แต่งงานแล้วก็ไม่อยากมีลูกกันมากนัก"

พร้อม เตือนพึงระวังจำนวนเด็กเกิดที่ลดลงแต่ต้องคำนึงถึง "คุณภาพของการเกิด" ควรดำเนินนโยบายส่งเสริมคุณภาพการตั้งครรภ์ คู่ขนานกับมาตรการกระตุ้นให้คนมีลูกเพิ่มขึ้น เช่น กระตุ้นให้คนแต่งงานก่อน โดยรัฐควรริเริ่มโครงการ จัดให้มีสิ่งจูงใจ อนาคตประเทศไทยฝากไว้ที่ครรภ์มารดา


จากPrachachat Online

This entry was posted on . You can follow any responses to this entry through the RSS 2.0. You can leave a response.

Leave a Reply

Share



Total View

พีรณัฐ ไกรคุ้ม Peeranat Krikhoom
bkk09man@gmail.com