Archive for สิงหาคม 2012

เป็นไปได้!! twitter กับ การเรียนการสอน

No Comments »

        หากเราพูดถึงทวิตเตอร์ (Twitter) ผมเชื่อว่าทุกๆคนรู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ซึ่งทวิตเตอร์ก็คือบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์จำพวกไมโครบล็อก ที่เราสามารถโพสต์ข้อความได้ไม่เกิน 140 ตัวอักษร (Microblog) เป็นข้อความสั้นๆ ที่จะบอกกับผู้ที่สนใจจะติดตามเรา (Follower) ว่าเรากำลังทำอะไรคล้ายกับ Status Message ของ MSN  ด้วยลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของทวิตเตอร์  ข้อความต่างๆจะถูกกระจายออกไปอย่างรวดเร็ว เพราะข้อความที่สั้นและเข้าใจง่าย ทำให้ทวิตเตอร์เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ใช้   

        ทุกวันนี้คนหลายสิบล้านคนใช้ประโยชน์จากทวิตเตอร์เพื่อความบันเทิง เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ หรือเพื่อพูดคุยกับเพื่อนฝูง   แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าทวิตเตอร์สามารถนำมาใช้กับการเรียนการสอนได้  

        ถึงแม้การใช้ทวิตเตอร์ในการสอนเด็กอ่านและเขียนจะไม่ได้เป็นหลักสูตรในกระแส หลัก โดยเฉพาะในระบบการศึกษาดั้งเดิมของฝรั่งเศส  แต่วิธีการดังกล่าวกำลังแพร่หลายในหมู่คุณครู  เห็นได้จากชั้นเรียนที่ใช้ทวิตเตอร์ในการเรียนการสอน 100 แห่ง และประมาณกว่าครึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นอยู่ในฝรั่งเศส

        ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส  ทุกๆเช้า นักเรียน 1-2 คนจะมีหน้าที่ทวีตข้อความแรกของวันนั้น  แต่ก่อนที่จะทวีตข้อความออกไปพวกเขาจะต้องเขียนประโยคนั้นลงในสมุด  แก้ไขให้ถูกต้อง  หลังจากนั้นจึงพิมพ์ลงบนทวิตเตอร์  แล้วข้อความที่พวกเขาส่ง(Tweet) ก็จะไปปรากฏบนกระดานสมัยใหม่ในห้องเรียน(SmartBoard) พร้อมกับข้อความจากผู้ติดตาม(Follower) โดยสิ่งที่ทั้งชั้นจับตามองคือข้อความ(Tweet)จากผู้ติดตามนั่นเอง   ในส่วนนี้เราสามารถเห็นได้ว่าเป็นการฝึกทักษะการเขียนและการอ่านของนักเรียนในชั้นเรียนที่ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วม  อีกทั้งยังเป็นการใช้สื่อการสอนที่เรียกความสนใจได้อย่างดีทีเดียว

         นอกจากนั้นโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งก็มีการนำทวิตเตอร์มาใช้ในการเรียนเช่นกัน  โดยการที่ให้นักเรียนส่งข้อความ(Tweet) เกี่ยวกับการทัศนศึกษาในปารีส  ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองสามารถติดตามการไปทัศนศึกษาของลูกๆได้  ไม่ว่าจะเป็นระหว่างการไปเที่ยวชมหอไอเฟลหรือพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ผ่านทางหน้าจอTwitter

        เหล่าบรรดาผู้ที่มีบทบาททางการศึกษาฝรั่งเศสได้ออกมาให้ความคิดเห็นเกี่ยว กับข้อดีการใช้ทวิตเตอร์ในการเรียนการสอนอย่างมากมาย  ดังเช่น  'จีราด มาร์กี' สมาชิกสถาบันการศึกษาเพื่อเยาวชนแห่งชาติฝรั่งเศส ได้กล่าวว่า  "การทดลองใช้ทวิตเตอร์สำหรับการเรียนการสอน มีขึ้นในบริบทที่ชัดเจนมาก นั่นคือจำกัดอยู่ในโรงเรียนแถบชนบท หรือโรงเรียนสำหรับครอบครัวชนชั้นกลาง หรือโรงเรียนสายอาชีพ และสถานการณ์ของนักเรียนทำให้บรรดาคุณครูต้องหาทางโน้มน้าวและเปิดกว้าง"

        ส่วน 'ยานน์ เลอโร' นักจิตวิทยาและนักบำบัด  กล่าวว่า "การ ส่งหรือทวีตข้อความ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับความนิยม และเด็กๆ ก็เรียนรู้ภายในเวลาอันรวดเร็วว่าสิ่งที่เขียนลงบนกระดาษจะคงอยู่อย่างนั้น แต่สิ่งที่เขียนลงไปในอินเทอร์เน็ตสามารถลบออกไปได้ ทำให้ไม่ต้องรู้สึกเกรงว่าจะเกิดความผิดพลาด และเปิดโอกาสให้ลองสิ่งใหม่ๆ โดยไม่ต้องรู้สึกกลัวหรือกังวล" 

        นอกจากการแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียนแล้ว  ครู'มาส์ ซอง' ยังใช้ทวิตเตอร์สอนเรื่องคำ  และแก้โจทย์คณิตศาสตร์กับนักเรียนนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียนอีกด้วย

        ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าประโยชน์ที่ชัดเจนของการใช้ทวิตเตอร์กับการเรียนการสอนนั้นก็คือ
  • สามารถเข้าถึงได้ง่าย  ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน  ครู  หรือผู้ปกครอง
  • มีความสะดวก  รวดเร็ว
  • มีความน่าสนใจ
  • เป็นการฝึกทักษะการอ่าน และการเขียนไปในตัว
  • สามารถมีการโต้ตอบระหว่างผู้รับสาร และผู้ส่งสารได้ในทันที
  • นอกจากนักเรียนในห้องเรียนแล้วอาจมีนักเรียนจากที่อื่นสามารถมาติดตามทวิตเตอร์และเกิดการเรียนรู้ที่ไม่มีขอบเขต
        นอกจากข้อดีแล้ว  การใช้ทวิตเตอร์กับการเรียนการสอนก็ยังมีข้อเสียอยู่หลายแง่มุม  ดังนี้
  • นักเรียนในชั้นเรียนอาจเกิดความสนใจในการใช้ทวิตเตอร์มากกว่าการสอนของครูหน้าห้อง
  • ยังมีความแพร่หลายในวงจำกัด  เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์ในการส่งข้อความ  และอินเตอร์เน็ต
  • สำหรับบางคน Twitter ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องทำความเข้าใจ และทดลองใช้งาน
        แม้ไม่ต้องกลัวในการเขียนทางสื่อดิจิทัล แต่ครูก็ต้องสอนนักเรียนให้ระมัดระวังด้วย โดยชั้นเรียนทวิตเตอร์ทุกชั้นจะมีแนวทางปฏิบัติของตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยง ปัญหาที่อาจเกิดจากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่างเช่นการกำหนดให้ใช้ทวิตเตอร์เพื่อทวีตข้อความถึงผู้ปกครอง หรือครู  สำหรับเป็นสื่อในการเรียนการสอนเท่านั้น  นอกจากนั้นนักเรียนยังต้องใช้ภาษาที่สุภาพ และไม่เปิดเผยที่อยู่ รหัส หรือข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว เพื่อความปลอดภัยของตัวนักเรียนเอง



บทความนี้มีการอ้างอิงข้อมูลมาจาก
บทความนี้มีการใช้รูปภาพประกอบจาก

Share



Total View

พีรณัฐ ไกรคุ้ม Peeranat Krikhoom
bkk09man@gmail.com